Caring for the Planet starts from the Ground  รักษ์โลก เริ่มจากรักษ์ดิน สู่ความยั่งยืน 

thenmy

หมอดินอาสาคืออะไร

หมอดินอาสาคือเกษตรกรที่มีความรักและสนใจในการทำการเกษตรและมีความต้องการจะรับอาสาเป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดินในการนำเอาเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินไปถ่ายทอดให้แก่เพื่อนบ้านและผู้สนใจโดยการนำไปปฏิบัติหรือแนะนำอย่างถูกต้อง สมัครเป็นหมอดินอาสาได้ผ่านทางสถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้านเมื่อได้รับการคัดเลือกก็จะได้รับการติดต่อให้มาอบรมและรับความรู้เพื่อเป็นตัวแทนในการนำความรู้ทีได้ไปถ่ายทอดต่อไป

ปุ๋ยหมักคืออะไร

ปุ๋ยหมักเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ชนิดหนึ่งซึ่งได้จากเศษพืชต่าง ๆ เศษขยะมูลฝอยหลายชนิด อาจมีซากสัตว์และมูลสัตว์รวมอยู่ด้วย เมื่อนำมาผสมรวมกันโดยอาศัยกรรมวิธีหมักอย่างง่ายๆ และใช้เวลาในระยะหนึ่งเศษพืชเศษขยะเหล่านี้อาจเปลี่ยนไปจากรูปเดิม อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของจุลินทรีย์ หลังจากนั้นก็สามารถนำเอาปุ๋ยหมักที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุง บำรุงดิน

ปัญหาดินเค็ม ดินเค็มคืออะไร

ดินเค็มคือ ดินที่มีปริมาณเกลือที่ละลายน้ำได้มากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อพืชดินเค็มที่พบโดยทั่วๆ ไป จำแนกได้ดังนี้ 1.ดินเค็ม (Saline soil) 2.ดินโซดิก (Sodic soil) 3.ดินเค็มโซดิน (Saline-solic soil) ซึ่งปัญหาดินเค็มโดยทั่วไปพื้นที่ดินเค็มจะมีปัญหาปลูกพืชไม่ได้ ผลผลิตลดลง และมีคุณภาพต่ำ พืชมักจะเกิดอาการขาดน้ำและได้รับพิษจากธาตุเป็นส่วนประกอบของเกลือที่ละลายออกมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเดียมและคลอไรด์มีผลให้โครงสร้างของดินเลวลง ดินแน่น รากพืชชอนไชไปได้ยาก นอกจากนี้ความเค็มยังมีผลทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารอื่นๆ เช่น โบรอน สังกะสี เป็นต้น หากไม่มีการแก้ไขจะส่งผลต่อผลผลิตทางเกษตร

จะนำดินไปตรวจสอบที่ไหนได้บ้าง

ติดต่อขอรับบริการตรวจสอบดินเบื้องต้นได้ที่ หน่วยพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน หรือสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน โทร.0-5361-1853

สายพันธุ์หญ้าแฝก

สายพันธุ์หญ้าแฝก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ แฝกลุ่ม และแฝกดอน

 

หญ้าแฝกลุ่ม (Vetiveria zizanioides Nash) ลักษณะที่สำคัญ คือ หลังใบโค้งปลายใบ แบนมีสีเขียวเข้ม เนื้อใบค่อนข้างเนียน มีใขเคลือบ (wax) มากทำให้ดูมัน ท้องใบออกสีขาว ซีดกว่าด้านหลังใบ และเมื่อนำใบส่องดูกับแดดจะเห็นรอยกั้นขวางในเนื้อใบ (septum) โดยเฉพาะพื้นใบบริเวณส่วนโคนและกลางใบ เส้นกลางใบ (midrib) ฝังอยู่ในตัวแผ่นใบไม่โตหรือเด่นชัดเจน หญ้าแฝกลุ่มอายุประมาณ 1 ปี จะมีรากที่หยั่งลึกได้ประมาณกว่า 1 เมตร จะขึ้นอยู่กับสภาพของดินและความสมบูรณ์ของพืช โดยเฉพาะดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดีหญ้าแฝกจะให้รากยาวที่สุด สายพันธุ์กำแพงเพชร 2 ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อค่อนข้างหลวม ใบมีสีเขียว ท้องใบมีสีขาว ใบค่อนข้างเล็ก ความกว้างของใบเฉลี่ย 0.9 เซนติเมตรใบจะเป็นมัน ดอกสีม่วงน้ำตาล สายพันธุ์ศรีลังกา ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อค่อนข้างหลวม ใบมีสีเขียว ท้องใบมีสีขาว ใบค่อนข้างเล็ก ความกว้างของใบเฉลี่ย 0.9 ซม. ใบจะเป็นมัน ดอกสีม่วงน้ำตาล สายพันธุ์สุราษฎร์ธานี ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อค่อนข้างหลวม ทรงพุ่มกาง หน่อใหญ่ มีการยึดปล้องเร็วใบสีเขียว ท้องใบมีสีขาวลายหยาบ ความกว้างของใบ 1 ซม. ดอกสีม่วงแดง สายพันธุ์สงขลา ลักษณะกอปรก ทรงพุ่มกาง ใบมีสีเขียว ท้องใบมีสีขาวละเอียด ใบค่อนข้างใหญ่ ความกว้างของใบ 1.4 ซม. ใบจะเป็นมันและอ่อน ดอกสีม่วงแดง

 

หญ้าแฝกดอน (Vetiveria nemoralis A.Camus) ลักษณะที่สำคัญ คือ ใบสีเขียวซีด หลังใบพับเป็นสันสามเหลี่ยม เนื้อใบหยาบ สากคาย มีไขเคลือบน้อย ทำให้ดูกร้านไม่เหลือบมัน ท้องใบสีเดียวกับด้านหลังใบ แต่มีสีซีดกว่า แผ่นใบเมื่อส่องกับแดดไม่เห็นรอยกั้นในเนื้อใบ เส้นกล้างใบสังเกตได้ชัดเจน มีลักษณะแข็งเป็นแกนนูนทางด้านหลัง ช่อดอกของหญ้าแฝกดอนจะมีได้หลายสี ซึ่งเป็นลักษณะปกติประจำถิ่น และหญ้าแฝกดอนจะมีรากที่สั้นกว่า โดยทั่วไปหญ้าแฝกที่มีอายุประมาณ 1 ปี จะมีรากลึกประมาณ 80-100 ซม. สายพันธุ์กำแพงเพชร 1 ลักษณะการแตกหน่อแน่น กอตั้ง หน่อมีขนาดใหญ่ ใบมีสีเขียวนวล หยาบกร้าน กาบใบสีฟ้านวล มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 1 ซม. ดอกสีม่วง สายพันธุ์นครสวรรค์ ลักษณะเป็นกอกางเป็นพุ่ม มีการแตกหน่อแน่น ใบมีสีเขียว หยาบกร้าน กาบใบมีสีฟ้าอมเทา มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 0.8 ซม.ดอกสีม่วง สายพันธุ์เลย ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อแน่น ใบมีสีเขียว กาบใบมีสีชมพู ใบกร้าน มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 0.9 ซม. หน่อมีขนาดใหญ่ ดอกสีน้ำตาลอมม่วง สายพันธุ์ร้อยเอ็ด ลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อแน่นหน่อมีขนาดเล็ก ใบมีสีเขียว หยาบกร้าน มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 0.5 เซนติเมตร ดอกสีน้ำตาล สายพันธุ์ราชบุรี มีลักษณะกอตั้ง มีการแตกหน่อแน่น ใบมีสีเขียว หยาบกร้านมีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 1 ซม. ดอกสีม่วง สายพันธุ์ประจวบคีรีขันธุ์ มีลักษณะกอกางเป็นพุ่ม มีการแตกหน่อแน่น ใบมีสีเขียว ท้องใบสีขาว มีสันกลางใบชัดเจน ความกว้างของใบ 1 ซม. ใบจะค่อนข้างแบน ดอกสีม่วง

ติดต่อขอรับสารเร่งได้ที่ไหน

การขอรับสารเร่งนั้นสามารทำได้ 2 วิธี คือ

1.ท่านผู้ขอสามารถไปขอสารเร่งได้ด้วยตัวเองพร้อมกรอกแบบฟอร์มการขอ ที่สถานีพัฒนาที่ดิน

2. ท่านสามารถกรอกแบบฟอร์มขอรับสารเร่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต ด้วยระบบบริการประชาชน บนเว็บไซต์กรมพัฒนาที่ดิน http://www.ldd.go.th

วิธีการทำปุ๋ยหมัก

การทำปุ๋ยหมัก (Composting) คัดแยกเอาขยะที่ไม่มีคุณค่าที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยออก เช่น เศษกระป๋อง แก้ว โลหะ และถุงพลาสติก ฯลฯ เหลือเฉพาะขยะที่สามารถจะถูกย่อยสลายโดยเชื้อจุลินทรีย์ได้ทำให้ขยะเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยส่งเข้าเครื่อง หั่นบดขยะจะถูกนำไปเข้าถังหมักถ้าเป็นระบบใช้อากาศย่อยสลายจะเป็นถังเปิดให้มีการระบายอากาศเข้าออกได้สะดวก ถังหมักจะเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เป็นแถว ๆ มีประมาณ 5 ชั้น โดยขยะที่เข้ามาในครั้งแรกจะอยู่ถังชั้นบนสุดเมื่อหมักครบ 1 วัน จะถูกพลิกกลับถ่ายลงถังซึ่งอยู่ในชั้นล่างถัดไปขนาดถังหมัก ลึกประมาณ 0.90 - 1.20 ม. X 2.5 - 3.0 ม. ด้านข้างของถังหมักจะทำเป็นรูโดยรอบ เพื่อให้มีการระบายอากาศได้รอบถังจะช่วยให้จุลินทรีย์ทำปฏิกิริยาย่อยสลายได้มาก ที่สุดระยะเวลาของการย่อยสลายโดยระบบที่ใช้อากาศ (Aerobic Process)นี้ใช้เวลาประมาณ5-6วัน ก็จะทำให้เกิดการย่อยสลายของอินทรีย์สารได้ค่อนข้างสมบูรณ์ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหมัก จะทำให้พวกเชื้อโรคที่ติดมากับขยะหยุดการเจริญเติบโต และตายไปได้ ขยะที่หมักโดยสมบูรณ์นี้ จะมีความปลอดภัยมากพอที่จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ อีกวิธีหนึ่งที่เลือกใช้ในการหมักขยะพวกที่มีความชื้นสูง คือ ระบบหมักไร้อากาศ (Anaerobic Process) คือเป็นการหมักขยะชนิดทีไม่ต้องใช้อากาศหรือ ออกซิเจนในการย่อยสลาย จึงต้องหมักในถังปิด การหมักใช้เวลานานกว่าวิธี Aerobic Process ปรกติจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน จะย่อยสลายขยะได้สมบูรณ์ จึงจะนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ เช่นกัน นอกจากจะใช้วิธีกำจัดขยะมูลฝอยชนิดต่าง ๆแล้ว แผนการลดขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด และการนำมูลฝอยกลับไปใช้ใหม่ จะทำให้แผนการกำจัดมูลฝอยโดยรวมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

บทบาทภารกิจอาสาสมัครหมอดินอาสา

บทบาทภารกิจอาสาสมัครหมอดินอาสา

(๑) เป็นผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ดินระหว่างเกษตรกรในหมู่บ้านกับอาสาสมัครหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน

(๒) เป็นผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ช่วยเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ของกรมพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรในหมู่บ้าน

(๓) เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน ในการดำเนินกิจกรรมของกรมพัฒนาที่ดินในพื้นที่หมู่บ้าน

วิธีแก้ปัญหาตลิ่งพัง

ส่วนใหญ่จะปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวกั้นตลิ่งไปตลอดทาง อาจจะปลูกซ้อนกัน 2-3 แนวก็ได้ และสามารถปลูกต้นไม้ไว้หลังแนวหญ้าแฝกได้ไม่จำกัดชนิด แต่ถ้าน้ำเชี่ยวมาหรือเป็นช่วงที่มีน้ำมาก อาจนำวัสดุมาถมเพื่อลดความแรงของกระแสน้ำก่อนกระทบแนวตลิ่ง

ปัญหาดินกรด

ดินที่เป็นกรด จะมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือค่าพีเอช น้อยกว่า 7 แต่อย่างไรก็ตามระดับความเป็นกรดที่เป็นปัญหาต่อการเพาะปลูกพืช และการเสื่อมโทรมของสภาวะแวดล้อมทางดิน จะเกิดอย่างรุนแรงเมื่อค่าพีเอชของดินต่ำกว่า 5.5 ดังนั้นในทางวิชาการ ปัญหาดินกรดจึงนิยามว่าเป็นดินที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือพีเอชต่ำกว่า 5.5

ทำไมต้องเป็นหญ้าแฝกถึงป้องกันดินถล่ม

พื้นที่ที่เสี่ยงต่อดินถล่มจะเป็นพื้นที่ลาดชัน ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ซึ่งมักจะเกิดจาก การตัดไม้ทำลายป่า การป้องกันภัยจากดินถล่มมีมากมายหลายวิธี เช่น การใช้คอนกรีต ที่เราพบเห็นตามริมทางหลวงที่เป็นพื้นที่สูงและชัน ซึ่งใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่การป้องกันดินถล่มในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อดินถล่มโดยทั่วๆ ไป ซึ่งมีงบประมาณจำกัด ในลำดับแรกจึงต้องใช้หญ้าแฝกซึ่งเป็นพืชที่มีระบบรากลึกเจริญเติบโตในแนวดิ่งมากกว่าออกด้านข้าง ทนแล้งได้ดีมีรากมากและลึก รากจะประสานกันหนาแน่นเสมือนม่านหรือกำแพงใต้ดิน เมื่อนำมาปลูกชิดกันเป็นแนวจึงสามารถยึดติดดินและชะลอการไหลของน้ำป่าได้

ดินเปรี้ยวจัดหมายถึงอะไร

ดินที่มีสารประกอบของกรดกำมะถันอยู่บริเวณมากพอที่จะเกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกและทำให้ผลผลิตต่อไรต่ำ วิธีการสังเกตพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด 1. จะพบสารประกอบกำมะถันที่มีสีเหลืองฟางข้าว เรียกว่า จาโรไซต์ ตกค้างอยู่ในดินลักษณะเป็นจุดปะปนกับสีแดง หรือน้ำตาล โดยเมื่อขุดดินที่มีความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร จากพื้นดินจะพบสารประกอบดังกล่าว 2. น้ำบริเวณพื้นที่ดินเปรี้ยวจะใส คล้ายน้ำแกว่งด้วยสารส้ม ชิมดูจะมีรสเปรี้ยวหรือฝาด